เรียนเต้นรำ บทที่ 1: โคโรน่าไวรัส: เรียนเต้นรำมาสเตอร์คลาส
บทที่ 1: เรียนเต้นรำมาสเตอร์คลาส สิ่งที่เราสามารถเรียนรู้จากประเทศต่างๆทั่วโลก
ผู้เขียนบทความภาษาอังกฤษ Tomas Pueyo, อัปเดตครั้งล่าสุดวันที่ 20 เม.ย. 2563
แปลเป็นไทยโดย Ken Mallikamas
ใช้เวลาอ่านประมาณ 18 นาที
ลิงค์จาก Twitter อาจไม่ขึ้นให้เห็นถ้าใช้ Safari ถ้าใช้ Chrome จะไม่มีปัญหานี้
…………………………………………………………………………….
เดือนที่แล้วเราเตือนด้วยบทความ โคโรน่าไวรัส: ทำไมคุณต้องลงมือทำทันที หลังจากนั้นเราขอให้ประเทศต่างๆซื้อเวลาของเรากับ โคโรน่าไวรัส: ทุบด้วยค้อนแล้วต่อด้วยรำวง และดูรายละเอียดเกี่ยวกับสถานการณ์ในสหรัฐอเมริกาด้วย Coronavirus: Out of Many, One (ไม่ได้แปลเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอเมริกาล้วนๆ)
บทความภาษาต่างๆมียอดวิวรวมกันกว่า 60 ล้านคน และแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษเป็นภาษาอื่นๆกว่า 40 ภาษา
………………………………………………………………………………
จากเดือนที่แล้วจำนวนผู้ป่วย Coronavirus ที่ยืนยันแล้วเพิ่มขึ้นยี่สิบเท่าจาก 125,000 คนเป็น 2.5 ล้านคน ผู้คนหลายพันล้านคนทั่วโลกอยู่ภายใต้ภาวะทุบด้วยค้อน: รัฐบาลของพวกเขาได้ใช้มาตรการทางสังคมเพื่อระงับการแพร่กระจายของไวรัส
รัฐบาลของประเทศต่างๆส่วนมากทำสิ่งที่ถูกต้อง: การทุบด้วยค้อนหรือการออกมาตรการต่างๆเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง มันซื้อเวลาให้เราเพื่อลดการแพร่ระบาด และขบคิดถึงสิ่งที่ต้องทำในช่วงต่อไป เราเรียกช่วงหน้านี้ว่าการเต้นรำ นี่คือช่วงที่เราผ่อนคลายมาตรการทางสังคมอย่างระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงการระบาดครั้งที่สอง การทุบด้วยค้อนนั้นยาก คนหลายล้านคนสูญเสียงาน รายได้ เงินออม ธุรกิจ และอิสระภาพ โลกต้องการคำตอบ: เมื่อไหร่จะจบ? เมื่อไหร่ที่เราจะผ่อนคลายมาตรการเหล่านี้และกลับสู่สภาวะปกติใหม่ (New Normal)? จะต้องทำอะไรบ้าง? ชีวิตจะเป็นอย่างไร?
เมื่อไหร่เราจะได้เต้นรำกันสักที?
บทความนี้จะอธิบายว่าเราจะเต้นรำเมื่อใดและอย่างไร เราจะค้นพบว่า:
- เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากประสบการณ์ของประเทศต่างๆทั่วโลก
- เราจะต้องใช้มาตรการอะไรบ้างในระยะการเต้นรำเพื่อให้เราสามารถกลับสู่ภาวะปกติได้ และด้วยราคาเท่าไหร่? (ความเสียหายเท่าไหร่?)
- เราจะทำสิ่งเหล่านี้ให้เป็นจริงได้อย่างไร?
นี่คือสิ่งที่คุณจะได้เรียนรู้จากบทความนี้:
- การทุบด้วยค้อนได้ซื้อเวลาให้เราช่วยชีวิตคนนับล้าน
- ตอนนี้เรารู้แล้วว่าเราต้องทำอะไรเพื่อจะเข้าสู่ระยะเต้นรำ
- หลายประเทศได้แสดงให้เราเห็นตัวอย่าง
- เราสามารถเรียนรู้จากความสำเร็จและจากความล้มเหลวของพวกเขา
- จริงๆแล้วเราสามารถเต้นรำได้โดยไม่มีความเสียหายมากนัก
- เป็นไปได้ที่เราจะเปิดกิจการค้าและโรงเรียน
- แต่เราจำเป็นต้องรู้อย่างแน่ชัดว่ามาตรการเหล่านี้คืออะไร เพราะเราจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่ตอนนี้
รัฐบาลมีบทบาทสำคัญ
- รัฐบาลส่วนใหญ่ยังไม่ได้ทำสิ่งที่ต้องทำ
- พวกเขาต้องการกลับเป็นปกติ ดังนั้นจึงรีบทั้งๆที่ยังไม่พร้อม
- หลายประเทศจะมีการระบาดครั้งที่สอง
- หากเราทำถูกต้องในอีกไม่กี่สัปดาห์ เราจะสามารถกลับสู่ภาวะปกติได้
- ชีวิตของเราจะเปลี่ยนไปอีกหนึ่งปีหรือมากกว่านั้น แต่จะอยู่ในระดับที่พอทนได้
- เราจะสามารถหลีกเลี่ยงทั้งความตายจำนวนมาก และความล่มสลายทางเศรษฐกิจ
บทความนี้ยาวจนเป็นหนังสือเล่มเล็กๆได้ ดังนั้นแทนที่เราจะพิมพ์ทั้งหมดในครั้งเดียว เราจะพิมพ์วันละบทเท่านั้น
วันนี้เราเปิดตัวบทที่ 1 ของบทความ: A Dancing Masterclass เรียนเต้นรำระดับมาสเตอร์คลาส
1. สถานะภาพของโลกในปัจจุบัน
เคสทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
แต่การเพิ่มจำนวนของเคสนั้นซ่อนความจริงในเชิงบวก: หลายอย่างกำลังดีขึ้น
บางประเทศยังคงต่อสู้อยู่ในช่วงที่เลวร้ายที่สุดของวิกฤติ แต่ประเทศที่ออกมาตรการอย่างรวดเร็วช่วยชีวิตคนในประเทศนับล้าน
เมื่อดูกราฟนี้คำถามแรกที่ปุดขึ้นในใจคือ พวกเขาทำอะไรกันมั่ง? เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ทั้งที่เอาชนะวิกฤตได้ และที่หลีกเลี่ยงวิกฤตได้โดยสิ้นเชิง?
จะรู้เรื่องนี้ได้ ก่อนอื่นเราจะต้องรู้ว่าประเทศต่างๆ อยู่ตรงไหนของระยะการทุบด้วยค้อนและการเต้นรำ
ประเทศที่อยู่ภายใต้ระยะเวลาลงค้อนนั้นมีประชากรรวมกันเกือบ 60% ของประชากรโลกทั้งหมด ผู้คนหลายพันล้านสูญเสียอิสรภาพในการเคลื่อนไหวและวิถีชีวิต พวกเขาจะต้องเริ่มชีวิตใหม่อีกครั้ง แต่พวกเขายังกลัวหรือยังไม่อาจทำได้ในตอนนี้
นี่เป็นสาเหตุที่หลายประเทศที่อยู่ในระยะทุบด้วยค้อนกำลังวางแผนที่จะเปิดเศรษฐกิจของพวกเขาทีละน้อย บางประเทศเริ่มเปิดโรงเรียนและธุรกิจอื่น ๆ แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ทำเลย
ประเทศที่ยังอยู่ในระยะลงค้อนจะคิดถึงขั้นตอนการเต้นรำได้อย่างไร ว่าจะมีลักษณะอย่างไรในอนาคต พวกเขาจะทำแผนงานเพื่อลดคนป่วยและคนตายได้อย่างไร และในขณะเดียวกันจะให้ความเชื่อมั่นแก่ประชากรได้อย่างไรว่าการระบาดครั้งที่สองจะไม่กลับมาและทำลายชีวิตของพวกเขาอีกครั้ง?
เราต้องใช้ไทม์แมชชีนไปดูอนาคต
อนาคตในที่นี้คือไต้หวัน ฮ่องกง จีน และเกาหลีใต้
2. Dance Masterclass: การเดินทางสู่อนาคต
อุโมงค์ที่เราอยู่นั้นยาวและมืด แต่จะมีแสงสว่างในตอนท้าย เรารู้ได้เพราะเราเห็นว่าประเทศอื่นอยู่ในความสว่างแล้ว
หากเราต้องการทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากระยะลงค้อน เราต้องไปประเทศเดียวที่ทิ้งค้อนไว้เบื้องหลังแล้ว เราจะไปดูประเทศจีนกัน
การเต้นรำของจีนหลังระยะลงค้อน
ดูบทความบรรยายรายละเอียดของคดีของจีนที่นี่ ดูลำดับเหตุการณ์ในจีนที่นี่
เคสในประเทศจีนลงจุดสูงสุดของผู้ป่วยใหม่ 6,000 รายต่อวัน จนเหลือน้อยกว่า 60 รายต่อวัน นี่เป็นเคสรายวันที่น้อยกว่าของสหรัฐฯตามสัดส่วนประชากรประมาณ 2,000 เท่า จีนประสบความสำเร็จนี้โดยการใช้ค้อนหนักที่สุดที่โลกเคยเห็นมา ประสบการณ์ของชายคนนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจีนทำอย่างไร ส่ิงสำคัญคือทุกอย่างถูกปิด ทุกคนอยู่บ้านตลอดเวลาเป็นสัปดาห์ และทุกแห่ง
ชีวิตตอนนี้ในจีนเป็นอย่างไร หัวข้อทวิตเตอร์นี้แสดงภาพของกรุงปักกิ่ง ณ วันที่ 10 เมษายน
ผู้คนเดินบนถนนกันอีกครั้งโดยใส่หน้ากาก บริษัท สถานีขนส่ง หรือธุรกิจส่วนใหญ่ มีจุดตรวจสอบอุณหภูมิร่างกายและสุขภาพของผู้คน
รัฐบาลจีนออกรหัสให้ประชาชน หากรหัสของคุณเป็นสีเขียวคุณสามารถไปได้ทุกที่ แต่ถ้าเป็นสีเหลืองหรือสีแดงคุณจะต้องทำการกักกันตัวเองและจะถูกห้ามเข้าอาคารส่วนใหญ่
เป็นที่เชื่อกันว่ารัฐบาลรวบรวมข้อมูลทั้งหมดจากแอปเหล่านี้ (ไม่ว่าจะเป็นส่วนกลางหรือภูมิภาค) เพื่อจะได้ทราบว่าใครไปไหนมาบ้าง และติดตามคนที่อาจติดเชื้อจากผู้ที่ติดเชี้อแล้ว
การเดินทางยังจำกัดมาก แต่มีการเทสต์ตรวจสอบมาก และคนงานจะใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) แบบเต็มที่
โรงเรียนยังคงปิดอยู่ แต่บางโรงเรียนจะเปิดภายในสิ้นเดือนนี้
ประเทศและภูมิภาคอื่นๆ ที่ตรงประเด็นกับเรามากที่สุดคือเกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไต้หวัน
เกาหลีใต้เป็นประเทศแรกที่ประสบความสำเร็จในการเอาชนะการระบาด และตอนนี้ก็ประสบความสำเร็จในการเต้นรำโดยไม่ต้องปิดประเทศ สิงคโปร์น่าสนใจเพราะอยู่ในระยะเต้นรำเป็นเวลานานแล้ว และเราสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดของพวกเขาได้ ไต้หวันน่าสนใจมากเพราะพวกเขาไม่เคยมีการระบาดเลยแม้จะอยู่ใกล้กับจีนมาก
มาดูกัน
การเต้นรำอย่างไม่หยุดของไต้หวัน
ถ้าอยากอ่านประสบการณ์ของผู้เดินทางไปไต้หวันลองอ่านที่นี่ Jonathan Chen เล่าถึงประสบการณ์ของเค้าให้ฟังหลังจากลงจากเครื่องบินที่ไต้หวัน
ระดับการเตรียมพร้อมของไต้หวันน่าทึ่งสุดๆ ไต้หวันมีมาตรการกว่า 100 รายการที่พวกเขาทำก่อนเดือนมีนาคม นี่คือตัวอย่าง:
- ออกมาตรการห้ามเดินทางเร็ว และเป็นแบบเข้มงวด
- จัดศูนย์กลางการจัดการการผลิตหน้ากากของประเทศ เริ่มต้นที่ 2.4 ล้านชิ้นต่อวัน (สองเท่าของความต้องการ 1.3 ล้านชิ้นต่อวัน)
- กำหนดราคาหน้ากากเพื่อป้องกันการแสวงหาผลกำไร โดยเริ่มต้นที่ USD $0.50 ต่อชิ้น (ประมาณชิ้นละ 16 บาทถ้าใช้ค่าแลกเปลี่ยนเงินวันที่ 21 เม.ย.)
- บทลงโทษแรง ใครขึ้นราคาหน้ากากและสินค้าสำคัญอื่นๆมีโทษจำคุณ 1–7 ปีและปรับสูงถึง 167,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5.4ล้านบาท)
- การแพร่กระจายข่าวปลอมถูกปรับ USD $100,000 (ประมาณ 3ล้านบาท)
- การตรวจสอบเชิงรุก: ทดสอบทุกคนที่เคยมีอาการไข้หวัดธรรมดาแต่ได้ผลตรวจหวัดเป็นลบ การตรวจแบบนี้ทำให้เจอผู้ป่วยโคโรน่าบางส่วน
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เกิดก่อนที่หวู่ฮั่นจะปิดตัวลง! จากนั้นพวกเขาทำดังนี้ต่อ:
- ระดมกำลังทหารมาผลิตหน้ากาก
- ราคาหน้ากากอย่างเป็นทางการลดลงเหลือเพียง $0.20 ต่อชิ้น เมื่อสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ (ประมาณ 6 บาท)
- ก่อนสิ้นเดือนมีนาคม เพิ่มกำลังการผลิตหน้ากากเป็น 10 ล้านชิ้นต่อวัน (สำหรับประชากร 23 ล้านคน) มีการปันส่วนหน้ากากและห้ามส่งออก
- ฐานข้อมูลการเดินทางและสาธารณะสุขเชื่อมโยงกัน ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพจึงสามารถรู้ได้ว่าใครมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ CDC ของไต้หวัน (หน่วยงานป้องกันโรคระบาด) สามารถติดตามสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตามเวลาจริง
- แยกนักท่องเที่ยวโดยพิจารณาจากความเสี่ยง แยกกลุ่มที่อนุญาตให้เข้าประเทศได้โดยให้จับตาดูตัวเองออกจากกลุ่มที่ถูกบังคับกักกัน
- กักบริเวณด้วยบริการอาหารและให้กำลังใจ
- การบังคับใช้การกักกันโรคผ่านสัญญาณโทรศัพท์ที่มีอยู่ หากพวกเขาไม่มีโทรศัพท์รัฐบาลจะให้โทรศัพท์ไว้ใช้ในระหว่างถูกกักกัน การแจ้งเตือนจะถูกส่งไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบหากปิดเครื่องนานกว่า 15 นาที
- บุคคลที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งกักบริเวณจะถูกส่งเรื่องไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตาม มีตัวอย่างถูกปรับ USD$ 10,000 (สามแสนบาทไทย) สำหรับการละเมิดกฎการกักบริเวณ 14 วัน
หากโลกคือโรงเรียน และแต่ละประเทศคือนักเรียนที่กำลังสอบวิชา Coronavirus ไต้หวันสอบได้ A และเสนอความช่วยเหลือประเทศอื่น จะมีประเทศใดรับข้อเสนอของไต้หวันบ้าง
อยากเน้นสองสามอย่าง ประการแรกไต้หวังสามารถทำเช่นนั้นได้เนื่องจาก CDC ของไต้หวันพร้อม และมีอำนาจกว้างขวางจากประสบการณ์ของโรคซาร์สในปี 2546
ประการที่สอง พวกเขาดำเนินการอย่างรวดเร็วและหนักหน่วง บังคับใช้มาตรการใหม่ทั่วประเทศทุกวัน
ประการที่สาม พวกเขาเชื่อมข้อมูลสาธารณสุขกับข้อมูลการเดินทางเข้าด้วยกัน และป้อนข้อมูลให้กับตำรวจ เท่าที่เราบอกได้ ดูเหมือนว่าพวกเขาใช้เทคนิคการติดตามตัวบุคคลแบบมาตรฐานทั่วไป รวมกับข้อมูลด้านการดูแลสุขภาพและการเดินทาง แต่ไม่ใช้ข้อมูลติดตามการเคลื่อนไหวในโทรศัพท์หรือบัตรเครดิต — เว้นแต่คุณจะติดเชื้อ พวกเขามีเคสเพียง ~400 ราย ณ วันที่ 20 เมษายน ทำให้ระบบสาธารณสุขจัดการผู้ป่วยได้อย่างสบาย
ค้อนอันเล็กและมีดผ่าตัดของเกาหลีใต้
เกาหลีใต้เป็นประเทศแรกในโลกที่เอาชนะการระบาดของโรค Coronavirus ได้โดยไม่ต้องใช้มาตรการลงค้อนทั่วประเทศ ไม่มีการปิดร้านอาหาร โรงงาน ร้านค้า แบบทั่วประเทศ ไม่มีมาตรการให้อยู่บ้าน ไม่มีการห้ามกิจกรรมเกินขนาดที่กำหนด
พวกเขาทำได้อย่างไร? โดยใช้ค้อนเล็กและมีดผ่าตัด
การระบาดครั้งใหญ่เกิดขึ้นในเมือง Daegu หลังจากผู้ป่วยที่โด่งดัง ที่รู้จักกันในนาม ผู้ป่วยเบอร์ 31 ที่แพร่เชื้อไวรัสไปสู่คนมากกว่า 5,000 คนที่เชื่อมโยงกับคริสตจักร Shincheonji — ประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนเคสทั้งหมดในประเทศ ณ วันนี้
ถึงแม้รัฐบาลไม่ได้ปิดกิจการในเมืองนี้ แต่ประชากรมีประสบการณ์จากการระบาดของโรค MERSในปี 2558 เลยหลีกเลี่ยงตัวเองออกจากที่สาธารณะ ประชาชนทำกันเอง
ห้างสรรพสินค้าร้านอาหารและถนนใน Daegu ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของประเทศมีประชากร 2.5 ล้านคนส่วนใหญ่ว่างเปล่า ราวกับในหนังหายนะ
“มันเหมือนมีใครทิ้งระเบิดลงในใจกลางเมือง ดูราวกับหนังซอมบี้” Kim Geun-woo ผู้อาศัยในวัย 28 ปีบอกกับรอยเตอร์ทางโทรศัพท์
เจ้าหน้าที่ Daegu ปิดโรงเรียนอนุบาล เลื่อนภาคเรียนของโรงเรียนอื่นออกไป และปิดห้องสมุดสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ โบสถ์ ศูนย์ดูแลเด็ก และศาล
แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นนอกตัวเมือง Daegu การกักกันถูกจำกัดเฉพาะพื้นที่ระบาด และไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างกว้าง
วิธีการวัดผลกระทบของมาตรการเหล่านี้วิธีหนึ่งคือดูจากตัวเลขวัดเคลื่อนไหวของประชาชน (Mobility data): ชาวเกาหลีใต้เคลื่อนไหวมากแค่ไหนในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา วิธีที่ดีคือการเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวกับประเทศที่ใช้มาตรการหนักเช่นสเปน
เกาหลีใต้จึงควบคุมโรคระบาดโดยไม่ใช้มาตรการหนักได้อย่างไร? โดยการเรียนรู้ว่าใครป่วยและกักกันผู้ที่พวกเขามีการติดต่อด้วยทั้งหมด
ในการเรียนรู้ว่าใครป่วยคุณจะต้องเทสต์คนให้มากที่สุด
เราทุกคนคงเคยได้ยินเรื่องการเทสต์ที่น่าทึ่งของเกาหลีใต้ ตั้งแต่การขับรถไปเทสต์ (Drive-in testing) จนถึงการใช้ตู้โทรศัพท์ในการเทสต์ ซึ่งสามารถทำการเทสต์ได้ภายในเวลาเพียง 7 นาที
https://www.youtube.com/watch?v=A-33i9B8m6E&feature=emb_logo
ผลลัพธ์คือเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในการตรวจสอบวินิจฉัยที่ทั่วถึงที่สุดในโลก
ประเทศที่มีเคสมากจนระบบสาธารณสุขคว่ำเช่นฝรั่งเศสหรือสหราชอาณาจักร ไม่มีชุดอุปกรณ์เพียงพอที่จะทดสอบทุกคน แม้แต่ประเทศอย่างเยอรมนีหรือสิงคโปร์ที่เคยทดสอบได้เกือบทุกคน ก็ไม่สามารถทำได้อีก
ในขณะเดียวกันประเทศ / ภูมิภาคเช่นไต้หวัน, ฮ่องกง, เวียดนาม หรือเกาหลีใต้นั้น มีการทดสอบเพียงพอจนมีเปอร์เซ็นต์ผลตรวจบวกน้อยกว่า 3% พวกเขาไม่เพียงทดสอบคนที่มีอาการ แต่พวกเขาเทสต์ทุกคนที่มีการติดต่อกับผู้ป่วย พวกเขารู้ได้อย่างไรว่าผู้ป่วยติดต่อกับใครบ้าง? ในกรณีของเกาหลีใต้ ก็โดยการใช้ระบบติดตามผู้ติดต่อผู้ป่วยที่ทันสมัยที่สุดนอกประเทศจีน
รัฐบาลเกาหลีใต้เข้าถึงข้อมูลโทรศัพท์มือถือ ข้อมูลบัตรเครดิต และข้อมูลกล้องวงจรปิดในระหว่างการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งเป็นผลมาจากกฎหมายที่ได้รับอนุมัติหลังจากการระบาดของโรค MERS:
“เราปรับปรุงกฎหมายเพื่อจัดลำดับความสำคัญ โดยให้ความมั่นคงทางสังคมอยู่เหนือความเป็นส่วนตัวในเวลาที่เกิดวิกฤตโรคติดเชื้อ” — ดร. กี่ผ่านนิวยอร์กไทม์ส
ด้วยข้อมูลดังกล่าว เจ้าหน้าที่รู้ว่าใครไปที่ไหน จากนั้นพวกเขาก็เปิดเผยข้อมูลนั้นต่อสาธารณะ (ถอดข้อมูลที่ระบุถึงตัวบุคคลออก) เพื่อให้คนอื่นสามารถทราบได้ว่าพวกเขาอาจเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อหรือไม่ พวกเขามีไทม์ไลน์ของการเดินทางของผู้ติดเชื้อทุกชั่วโมง บางครั้งทุกนาที — ขึ้นลงรถประจำทางหรือระบบการเดินทางสาธารณะต่างๆที่ไหนเมื่อไหร่ รู้จนกระทั่งว่าคนเหล่านี้สวมหน้ากากหรือไม่
พวกเขายังใช้ข้อมูลนี้เพื่อส่งการแจ้งเตือนฉุกเฉินไปยังโทรศัพท์มือถือของผู้คนเมื่อมีการค้นพบเคสใหม่ๆใกล้ตัว ใครก็ตามที่คิดว่าอาจมีการเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อจะถูกเชิญให้รายงานไปยังศูนย์ตรวจโรค
นี่ไม่ได้เป็นเพียงระบบส่งข้อความที่ครอบคลุมถึงใครก็ตามที่อยู่ในพื้นที่ แต่ทำแบบมีเป้าหมายเจาะจง เมื่อมีการระบุตัวผู้ติดเชื้อ ทีมที่มีหน้าที่ติดตามแกะรอยจะใช้บันทึกสุขภาพ ข้อมูลธุรกรรมทางบัตรเครดิต กล้องวงจรปิด และตำแหน่งโทรศัพท์มือถือ เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวและค้นหาผู้มีการติดต่อกับผู้ป่วย การแจ้งเตือนทางโทรศัพท์จะเกิดขึ้นกับผู้ที่อยู่ใกล้ผู้ติดเชื้อเท่านั้น
หากผลการเทสต์ของคุณเป็นบวกคุณจะถูกส่งไปยังที่พักของรัฐบาล ซึ่งคุณจะได้รับการช่วยเหลือทางการแพทย์ขั้นพื้นฐานและการสังเกตการณ์ หรือโรงพยาบาล หรือที่บ้าน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการ
หากผลตรวจคุณเป็นลบ หากคุณฟื้นตัวจากโรค หรือคุณเป็นผู้ที่อาจติดเชื้อ คุณจะถูกกักตัวไว้ที่บ้าน คุณต้องดาวน์โหลดแอพที่จะแจ้งตำรวจถ้าคุณออกนอกบ้าน แอปนี้ยังได้รับความสนับสนุนจากทีมตรวจโรคในพื้นที่ ซึ่งจะโทรมาวันละสองครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าคุณจะอยู่กับที่ไม่ไปไหน และถามถึงอาการของคุณ ค่าปรับสำหรับการออกนอกบ้านคือ $8,000 (ประมาณสองแสนหกหมื่นบาท) และอาจเข้าคุกถึงหนึ่งปี
มาตรการอื่น ๆ ที่พวกเขาใช้คือการตรวจสอบอุณหภูมิก่อนเข้าอาคาร การมีเจลฆ่าเชื้อให้ทุกที่ และการสวมหน้ากากโดยประชาชนส่วนมาก…98% ของผู้คนกล่าวว่าพวกเขาสวมหน้ากากออกนอกบ้านบางครั้ง และ 64% ใส่หน้ากากเสมอ หลังจากความต้องการหน้ากากขนาดใหญ่พุ่งขึ้น รัฐบาลได้เข้าแทรกแซงเพื่อจัดการอุปทาน
ข้อดีอีกข้อหนึ่งแบบกลับมุมคือเมื่อโรคเริ่มระบาดในเกาหลีใต้ ประเทศต่างๆห้ามการเดินทางไปกลับระหว่างเกาหลีใต้และประเทศตน น่าแปลกที่มันอาจช่วยชีวิตชาวเกาหลีใต้ได้หลายคน เราจะกลับมาคุยกันถึงสิ่งนี้ในภายหลัง
โดยสรุปหลักของเกาหลีใต้คือมีการเทสต์ตรวจสอบมาก การแกะรอยสาวตัวผู้ติดต่อกับผู้ป่วย การแยกกักกัน สุขอนามัยโดยรวม การใช้หน้ากาก และการห้ามเดินทาง ค้อนหนัก (มาตรการที่รุนแรง) ไม่จำเป็นสำหรับเกาหลีใต้ เพราะส่วนใหญ่ใช้มีดผ่าตัด
ความผิดพลาดที่สำคัญของสิงคโปร์
วิธีการของสิงคโปร์ในการสู้ Coronavirus เริ่มขึ้นคล้ายกับของไต้หวัน ไทม์ไลน์ในการตัดสินใจของสิงคโปร์ก็น่าทึ่งเช่นกัน สิงคโปร์ทำหลายอย่างเหมือนที่ไต้หวันหรือเกาหลีใต้ทำ แต่ทำไมสิงคโปร์ถึงได้ผลต่างไป ความเหมือนไม่ตอบคำถามนี้ เราต้องดูที่ความแตกต่าง
สามสิ่งที่เห็นชัดเมื่อเทียบสิงคโปร์กับไต้หวันหรือเกาหลีใต้: การห้ามเดินทาง การติดตามผู้มีการติดต่อกับผู้ป่วย และการใช้หน้ากาก
สิงคโปร์ห้ามผู้มาเยือนจากหูเป่ยค่อนข้างเร็ว นั่นคือมีคำสั่งห้ามเมื่อมีผู้ป่วยในหูเป่ย 6,000 รายเมื่อวันที่ 29 มกราคม จากนั้นพวกเขาก็ห้ามนักท่องเที่ยวทั้งหมดจากประเทศจีนในอีกสามวันต่อมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์เมื่อหูเป่ยมีผู้ป่วย 12,000 ราย
แต่หลังจากนั้นสิงคโปร์ทำไม่เร็วพอ ไม่ได้ห้ามนักเดินทางจากอิตาลี ฝรั่งเศส สเปนและเยอรมนีจนถึงวันที่ 16 มีนาคม ในเวลานั้นประเทศเหล่านี้รวมกันมีรายงานผู้ป่วยมากกว่า 50,000 ผู้เดินทางระยะสั้นทั้งหมดถูกแบนในสัปดาห์ต่อมาในวันที่ 23 มีนาคม ถึงตอนนั้นโลกก็มีผู้ป่วยกว่า 150,000 คนนอกประเทศที่ถูกห้ามเข้าไปแล้ว
การดำเนินการล่าช้านี้ทำให้เกิดการเพาะเมล็ดผู้ป่วยใหม่อย่างรุนแรง ตอนสิ้นเดือนมีนาคมผู้ป่วยในสิงคโปร์ 80% มาจากต่างประเทศ ถึงแม้จำนวนเคสที่นำเข้าจะลดลงเหลือศูนย์ภายในหนึ่งสัปดาห์แต่มันก็สายเสียแล้ว เคสนำเข้าเหล่านี้เพียงพอที่จะเพาะเชื้อแพร่กระจายในท้องที่จนเกิดการระบาดขึ้นมากมายภายในสัปดาห์ต่อมา หากสิงคโปร์ปิดพรมแดนประมาณวันที่ 10 มีนาคม ก็เป็นไปได้ว่าการระบาดครั้งนี้จะไม่เกิดขึ้น หรืออาจไม่เลวร้ายเท่านี้
ในบทที่ 3 ของบทความนี้ เราจะอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการตัดสินใจว่าจะใช้ข้อจำกัด การเดินทางแบบใด
ความแตกต่างอันดับสองระหว่างสิงคโปร์กับประเทศเช่นเกาหลีใต้คือการแกะรอยผู้มีการติดต่อกับผู้ป่วย การดำเนินงานของสิงคโปร์ด้านนี้ไม่ใช่ระดับโลก จนถึงสิ้นเดือนมีนาคมทีมของพวกเขาสามารถติดตามได้ประมาณ ~600 รายชื่อเท่านั้น เพราะกระบวนการที่ใช้แรงงานคนมาก ผู้ติดตามแกะรอยต้องพึ่งการสัมภาษณ์หรือภาพจากกล้องวงจรปิดเท่านั้นในทำการวิจัย เท่าที่เรารู้ เจ้าหน้าที่สิงคโปร์ไม่มีข้อมูลโทรศัพท์มือถือ ไม่มีข้อมูลบัตรเครดิต ไม่มีการเชื่อมต่อระหว่างข้อมูลด้านสาธารณสุขและการเดินทาง เราไม่รู้ชัดว่ากองกำลังสืบสวนของสิงคโปร์นั้นแข็งแกร่งกว่าหรืออ่อนแอกว่าของไต้หวัน และเครื่องมือของพวกเขาดีกว่าหรือแย่กว่า แต่ระบบสาธารณสุขไต้หวันไม่เคยคว่ำด้วยเคสจากต่างประเทศ
เมื่อปลายเดือนมีนาคมสิงคโปร์เปิดตัวแอป TraceTogether ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นมือถือที่ผู้คนสามารถดาวน์โหลด แอปนี้ทำงานโดย Bluetooth และ Data Encryption โดยเก็บข้อมูลของทุกคนที่คุณพบโดยไม่ระบุชื่อ เพื่อให้คุณได้รับการแจ้งเตือนหากใครคนใดในคนเหล่านี้กลายเป็นผู้ป่วยในวันหน้า
ความคิดนั้นยอดเยี่ยม แต่มีคนสิงคโปร์ดาวน์โหล์ดแอปนี้เพียง 20% เท่านั้น (1 ล้านผู้ใช้เทียบกับ จำนวนพลเมือง 5.6 ล้านคน) จำนวนนี้ไม่พอในการแกะรอย การจะมีแอปชนิดนี้ที่ใช้งานได้คนที่มีการติดต่อกันทั้งสองคนจะต้องดาวน์โหล์ด หากความเป็นไปได้ที่จะมีคนหนึ่งคนที่ดาวน์โหล์ดแอปนี้คือ 20% ก็แปลว่าจะมีโอกาสเพียง 20% * 20% = 4% ที่คนสองคนที่มีแอปนี้จะมาพบกันโดยบังเอิญ (สุ่ม)
ตัวอย่างข้างบนมาจากสมมุติฐานว่า 20% ในที่นี้หมายถึงเปอร์เซ็นต์ของประชากรที่มีแอปที่ทำงานอย่างถูกต้อง หาก 20% หมายถึงจำนวนประชากรที่ดาวน์โหลดเพียงอย่างเดียว — ตามธรรมเนียมของผู้มีหน้าที่พัฒนาซ็อฟแวร์ที่จะต้องการโน้มน้าวความสำเร็จของแอปพลิเคชันของพวกเขา — คนจำนวนมากที่ดาวน์โหลดแอปจะไม่เปิดแอป บางคนที่เปิดก็ไม่ตั้งค่า หลายคนไม่เปิด Bluetooth ตลอดเวลา
สิงคโปร์เปิดตัวแอพเมื่อสี่สัปดาห์ที่แล้ว หวังว่าคงมีการใช้แอปเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า แต่ประเทศนี้เป็นหนึ่งในประเทศที่ดีที่สุดในโลกที่จะโน้มน้าวให้ประชากรใช้แอปนี้ เพราะจำนวนประชากรที่มีมือถือมีขนาดใหญ่ ประเทศเล็ก และพลเมืองเชื่อใจรัฐบาล ถ้าสิงคโปร์ทำไม่ได้มากกว่า 20% ประเทศไหนจะทำได้? เจ้าหน้าที่สิงคโปร์เองยังบอกว่าแอปนี้ยังไม่สามารถแทนที่การแกะรอยโดยการใช้แรงงานคนได้ในขณะนี้
นี่ไม่ได้หมายความว่าเทคโนโลยีนี้ไม่ดี ในทางตรงกันข้าม บลูทูธในสมาร์ทโฟนมีศักยภาพมากในการแก้ปัญหาการแกะรอย ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้คนใช้แอป เป็นเรื่องยากมากที่จะมีผู้คนจำนวนมากที่ใช้แอป และการใช้แอปแบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นในเกาหลีใต้และพวกเขาสามารถแกะรอยได้ง่ายกว่าเยอะ เราจะพูดถึงปัญหาเหล่านี้ในเชิงลึกโดยละเอียดในส่วนที่ 2 ของบทความนี้
ความแตกต่างที่สามระหว่างสิงคโปร์กับประเทศที่มีความสำเร็จมากกว่าคือการใช้หน้ากาก สิงคโปร์แนะนำให้ใช้หน้ากากสำหรับคนป่วยเท่านั้นจนถึงวันที่ 3 เมษายน นี่ตรงกันข้ามกับทั้งไต้หวันที่มีการจัดการหน้ากากจากส่วนกลาง และเกาหลีใต้ (มี 98% ของคนที่สวมมาสก์อย่างน้อยบางครั้งและ 64% ตลอดเวลาเมื่อยู่นอกบ้าน)
เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะเห็นในบทที่ 3 ของบทความนี้ — หน้ากากคือพื้นฐานในการหยุดไวรัส
ชาร์ตข้างล่างแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของปัจจัยทั้งสามนี้ร่วมกัน — การจำกัดการเดินทาง การแกะรอยผู้ติดต่อกับผู้ป่วย และการใช้หน้ากาก
กราฟิกข้างบนคือของทุกเคสที่เป็นเคสทางการในสิงคโปร์
จุดสีแดงคือเคสที่ยัง active อยู่ จุดสีเขียวหมายถึงคนที่หายป่วย คุณเห็นเคสสีแดงจำนวนมากเพราะนี่คือเคสที่ระบาดเร็วๆนี้
ถ้าคุณลองแหวกชาร์ตข้างบนดูอาจเจอแบบนี้
นี่เป็นตัวอย่างของเคสที่ได้รับการตรวจสอบอย่างเหมาะสมแล้ว แต่เคสโดยมากจะดูเป็นแบบนี้
นี่แสดงให้เห็นถึงภาระในการติดตามแกะรอยที่ผู้ตรวจสอบไม่สามารถจัดการได้ เคสนี้ยังไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียด ในขณะนี้เคสส่วนใหญ่ในสิงคโปร์เป็นเช่นนี้
กลุ่มสีแดงก่อตัวขึ้นในเขตุหอพัก เราค้นจากข้อมูลทั้งหมดเพื่อดูว่าเคสกลุ่มไหนเริ่มจากหอพักแล้ววงเคสหอพักด้วยสีน้ำเงิน
คำตอบคือเคสส่วนใหญ่เร่ิมจากหอพักนั่นแหละ
หอพักเหล่านี้เป็นหอพักของแรงงานข้ามชาติ ดังที่เรากล่าวไว้ สิงคโปร์ใช้เวลานานกว่าจะออกกฎหมายห้ามการเดินทาง และในปลายเดือนมีนาคม 80% ของเคสมาจากการเข้าประเทศของแรงงานข้ามชาติ
แต่เคสที่นำเข้าเหล่านี้เริ่มแพร่กระจายเพราะไม่มีการจำกัดขนาดของการสังสรรค์ในสังคมและไม่มีการใช้หน้ากาก
แม้จะมีการจำกัดขนาดของการชุมนุมมากกว่า 10 คน แต่นี่คือภาพจากหอพักแห่งหนึ่ง
สังเกตดูจำนวนผู้คน และไม่ใช่ทุกคนสวมหน้ากาก
สรุปคือดูเหมือนความผิดพลาดของสิงคโปร์นั้นรวมถึง การออกมาตรการห้ามเดินทางที่ล่าช้า การออกกฏจำกัดการชุมนุมที่ล่าช้า ข้อกำหนดการใส่หน้ากากที่ล่าช้า และระบบการแกะรอยติดตามที่ยังพึ่งแรงงานคน
สิ่งเหล่านี้เริ่มแสดงให้ทุกประเทศเห็นถึงมาตรการหลักที่ทุกประเทศจำเป็นต้องมี เพื่อต่อสู้กับโรคโคโรนาไวรัส
นี่คือรายการมาตรการที่ทุกประเทศควรพิจารณา แยกได้เป็นสี่ประเภท:
- มาตรการที่มีความเสียหายน้อยแต่อาจเพียงพอในการหยุดการแพร่ระบาดของโรค
- มาตรการที่อาจก่อความเสียหายมากแต่อาจจำเป็น
- มาตรการที่ก่อความเสียหายมากที่ไม่จำเป็น
- มาตรการทางสาธารณสุข
ถึงเวลาแล้วที่เราจะคุยกันเรื่องมาตรการเหล่านี้โดยละเอียด
นี่คือบทที่ 1 ของบทความ โคโรน่าไวรัส: เรียนเต้นรำ ในบทที่ 2 เราจะศึกษาแก่นของมาตรการที่ทุกประเทศต้องนำมาใช้: การตรวจ การแกะรอย การแยกตัว และการกักกัน เราจะให้คำแนะนำที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละหัวข้อรวมถึงคำเตือน: ประเทศส่วนใหญ่ไม่ใช้วิธีแกะรอยที่ถูกต้อง และหากพวกเขาดำเนินการต่อไปบนเส้นทางปัจจุบัน อนาคตของประเทศเหล่านี้จะจบลงเหมือนสิงคโปร์
ต้นฉบับภาษาอังกฤษ Original work written by Tomas Pueyo in English https://medium.com/@tomaspueyo/coronavirus-learning-how-to-dance-b8420170203e